ข้ามไปยังเนื้อหา

การปลูกกระท้อน

กระท้อน

การปลูก
เป็นไม้พุ่มกว้าง ระยะปลูกก็ต้องห่างสักหน่อยนะ แต่ที่สวนใช้ปลูกตรงที่ว่างๆ ร่วม 10 เมตร โน่น แต่ถ้าของใครอยากปลูกก็ระยะต้น 6.00 ม.ก็ได้ ทีนี้พอได้ระยะแล้ว คราวนี้ก็ลงมือขุดหลุมฝัง เอ๊ย ปลูก ขนาดหลุมคราวนี้ก็เหมือนๆกับพุดทรา กว้างรัศมี 50 ซม. ลึก 30 ซม. ขุด+พรวน จากนั้นใส่มูลสัตว์ ผสมแกลบดิบ แกลบดำ ใบสะเดาแก่ ถ้ามีปูนขาวสักนิด โรยผสมลงไป เติมทรายหยาบอีกสัก 2-3 กำมือ พอให้เนื้อดินมันโปร่งๆสักหน่อย พรมน้ำพอชื้น คลุกเคล้าให้เข้ากันดี จากนั้นตรงกลางให้ขุดหลุมกว้างกว่าถุงชำ สักเท่าตัว ลึกสัก 6 นิ้วก็พอ จากนั้นก็เอาลงปลูก ทำเหมือนปลูกต้นกล้าทั่วไป ทำร่มบังแดด แล้วรดน้ำ ดูแลตามปกติ ไม่ต้องให้ปุ๋ยอะไร ช่วงนี้ใช้เวลา 3-4 ปีโน้น เราก็เอาพืชอะไรก็ได้ที่พอสร้างรายได้มาปลูกใกล้ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตไปก่อน ที่สวนผมปลูกฝาหรั่งตามเคย (ของถนัด) ปลูกใกล้กันนั่นแหละ ผลดีก็คือ เวลาให้อาหารฝาหรั่ง เจ้ากระท้อนก็ได้รับด้วย แล้วเจ้ากระท้อนก็จะสูงชะลูดเร็วเพื่อต้องการแสง ดังนั้นเราก็จะได้เปล้าสูงและมีลำต้นตรง ไม่ต้องเสียเวลาตัดกิ่งข้าง แจ๋วไม๊ละ ช่วงระยะนี้ การตัดแต่งกิ่งเพื่อทำรูปทรงก็ทำน้อยๆ ค่อยๆจัดรูปทรง

บำรุงต้นกล้า
พอหลังจากปลุกไปสักระยะหนึ่ง ต้นกล้าก็จะแตกใบอ่อน ให้แตกสัก 2-3 ชุด ก็เริ่มบำรุง

ทางใบ
ใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 2 ช้อนแกง
น้ำสะอาด 20 ลิตร (1 ปี๊บ)
ผสมแล้วฉีดพ่นทางใบให้เปียกโชกทั้งใต้ใบ-บนใบ ลงไปถึงโคนต้น ทุกๆ 5 วัน/ครั้ง
สำหรับสมุนไพร ใช้ 5 ช้อนแกง ฉีดพ่นตอนเย็น 3 วัน/ครั้ง

ทางดิน
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 5 ช้อนแกง
น้ำสะอาด 20 ลิตร ผสมแล้วรดให้พอชื้น ทุกๆ 10-15 วัน/ครั้ง
แล้วให้น้ำเปล่าตามปกติ วันเว้นวัน
ในช่วงนี้ถ้าเราหมั่นดูแลอย่างสม่ำเสมอ ต้นกล้าจะแตกยอดใหม่เดือนละ 1 ชุด และถ้ามีการบำรุงอย่างดี การแตกยอดใหม่อาจจะ 3 ชุด/2เดือน และในเวลาเดียวกันถ้าเราต้องการให้ทรงต้นตรง และสูง ก็ต้องคอยริดกิ่งข้างที่แตกออกมา จนได้ความสูงของเปล้าตามต้องการ สำหรับที่สวน ไว้เปล้าที่ความสูงประมาณ 80 ซม.- 1 ม.
จากนั้นก็ดูแลในลักษณะนี้ จวบจนกระทั่งกระท้อนเขามีอายุได้ 3 ปี ก็จะเริ่มมีตาดอกและให้ผลผลิดได้ต่อไป
เนื่องจากที่สวนดูแลและบำรุงไม้ผล ในลักษณะช่วยเหลือธรรมชาติ โดยการให้น้ำและธาตุสารอาหารตามที่จำเป็น จึงไม่ได้มีสารเคมีหรือปุ๋ยเคมีอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกเว้น ต้องขออนุญาตจริงๆว่า หากเกิดการระบาดของศัตรูพืชมากเกินไปจนเอาไม่อยู่ สารเคมีจึงจะเข้ามามีบทบาท ทั้งนี้เป็นหนทางสุดท้าย สำหรับปุ๋ยเม็ด(เคมี)เลิกใช้มานานเกือบ 10 ปี มีแต่สารพัดขี้เอามาใช้ เคยมีหลายๆท่านถามว่า ทำไมผมจึงไม่เอาเคมีวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ผมก็อธิบายว่า การทำเกษตรมี 4 แนวทางเลือก คือ
1. ทำเป็นอาชีพ มุ่งมั่นที่จะทำเพื่อการค้า แบบนี้ สารเคมี ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนเคมี เป็นหลัก
2. ทำแบบเศรษฐกิจพอเพียง แบบนี้ ทำด้วยใจ ทำด้วยความรู้ ธาตุสารอาหารต่างๆ จึงมาจากธรรมชาติเป็นหลัก เคมี-วิทยาศาสตร์เสริม
3. ทำแบบสะใจ พอใจ ภูมิ แบบนี้ เห็นใครทำแบบไหน ก็ทำตามไปหมด เอามันเข้าว่า หาเนื้อหายาก
4. ทำแบบไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็บรรพบุรุษพาทำ แบบนี้ล้างสมองยาก อย่างมา ก็ไปอย่างนั้น
ส่วนผมเลือกเอาแนวทางที่ 2 ที่ต้องยืนบนเหตุ-ผล และความเป็นจริงที่เป็นไปได้ โดยเอาเคมีวิทยาศาสตร์มาช่วยเสริม ในช่วงที่จำเป็นต้องเสริม
จริงแล้ว ไม้ผลขนาดใหญ่ ถ้าเรามุ่งเน้นเพื่อการค้า เราต้องเอาเคมีวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้อย่างมากในทุกช่วงการเจริญเติบโต และสามารถบังคับได้ตามที่เราต้องการ และนั่นก็ต้องสูญเสียกับการแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ต้องการ ตามที่เราๆท่านๆรู้อยู่
ทีนี้เรามาต่อเรื่องกระท้อนกัน เมื่อกระท้อนเริ่มแทงช่อดอกออกมา ข้อควรปฏิบัติ อย่าให้ขาดน้ำ แต่ปริมาณน้ำที่ให้ เพียงให้น้ำดินชุ่มก็พอ อย่าให้แฉะ

ทางใบ
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1 ช้อนแกง
ฮอร์โมนไข่ 2 ช้อนแกง
แคลเซี่ยม-โบรอน(ทำเอง) 1 ช้อนแกง
น้ำสะอาด 1 ปีบ
ผสมแล้วฉีดพ่นช่วงเช้า แดดจัดก่อน 11.00 น. ทุก 5 วัน/ครั้ง
สมุนไพร ควรใช้ 5 ช้อนแกง+น้ำสะอาด 1 ปีบ ฉีดพ่นตอนเย็นหลัง 15.00 น
ระยะนี้ จะมีแมลงศัตรู ประเภทกินใบและเพลี้ย เข้ามาเยี่ยมเยือน ดังนั้นถ้าเราเอาสมุนไพรที่มีรสขมเช่นสะเดา ใบยาสูบ เพิ่สเข้าไปก็จะช่วยได้และนอกจากนี้ เจ้ามดแดงที่อาศัยอยู่ก็จะมาช่วยจัดการเจ้าเพลี้ยนี้ได้ สำหรับเพลี้ยไฟ จะเข้ามาวุ่นวายช่วงก่อนดอกบาน ให้เอานำฉีดเบาๆทั่วทั้งใต้ใบ-บนใบ ทั้งตน เจ้าพวกนี้เมื่อโดนนำจะร่วงลงดินแล้วมันก็จะตายเอง
ระยะนี้กระท้อนจะทยอย ออกดอกมาเรื่อยๆ จึงต้องหมั่นดู จนกว่าจะเห็นว่าออกดอกทั่วทั้งต้น

ทางดิน
ให้น้ำตามปกติ วันเว้นวัน

ช่วงระยะดอกบาน
ช่วงนี้ อย่าให้ขาดน้ำ มีการให้พอหน้าดินชื้น แล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
เมื่อเข้าสู่ระยะติดผลอ่อน

ทางใบ
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1 ช้อนแกง
ฮอร์โมนไข่ ? ช้อนแกง
แคลเซี่ยม-โบรอน(ทำเอง) 1 ช้อนแกง
ปุ๋ยน้ำผลไม้หวาน 1 ช้อนแกง
น้ำสะอาด 20 ลิตร(1 ปีบ)
ฉีดพ่นช่วงเช้าแดดจัด ก่อน 11.00 น.ทุก 5 วัน/ครั้ง
สมุนไพรป้องกัน ฉีดพ่นตอนเย็น หลัง 15.00 น. 3 วัน/ครั้ง

ทางดิน
หว่านปุ๋ยคอกบางๆ คลุมด้วยเศษวัชพืช แล้วรดน้ำตาม ให้ชุ่ม จากนั้นให้น้ำตามปกติ 2 วัน/ครั้ง

ช่วงติดผล
ปุ๋ยน้ำหวาน 2 ช้อนแกง
แคลเซี่ยม-โบรอน(ทำเอง) 1 ช้อนแกง
ฮอร์โมนขยายขนาด(ทำเอง) 1 ช้อนแกง
เครื่องดื่มบำรุงกำลัง 2 ช้อนแกง (ลิโพ,กระทิงแดง,คาราบาว ฯลฯ)
น้ำสะอาด 20 ลิตร( 1 ปีบ)
ฉีดพ่นตอนเช้าช่วงแดดจัด ทุก 5 วัน/ครั้ง
สมุนไพร ฉีดพ่นช่วงเย็น ทุกๆ 3 วัน/ครั้ง

ทางดิน
ให้น้ำตามปกติ
ข้อระวัง
ช่วงนี้จะมี แมลงวันทอง,แมลงปีกแข็งเจาะผล,เพลี้ย เริ่มเข้าทำลาย จึงต้องเริ่มมีการห่อผล วัสดุที่ใช้ห่อผลที่ดีที่สุด คือกระดาษน้ำตาล ที่เรียกว่ากระดาษถุงปูน นำมาพับแล้วห่อ รัดขั้ว การห่อแบบนี้จะทำให้ผลสวย สีสวยและรสชาติดี ตามที่รู้มานะ แต่ที่สวน ใช้ถุงหิ้วห่อ ทั้งๆที่ถุงหิ้วนั้นไม่เหมาะกับการห่อกระท้อน เพราะผิวออกมาจะไม่สวย สีไม่ค่อยงาม ก็อย่างที่บอก ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการค้ามากนักและเป็นการประหยัดลงทุน ที่สำคัญ ไม่มีใครปลูก ก็เลยอาจจะทำแย่ๆไปบ้าง แต่ขายได้นะ เขาเอาไปดองกัน ไม่เอาไปกินผลสด
เนื่องจากอายุผลของกระท้อนถ้านับจากติดผลถึงเก็บ นานถึง 5-6 เดือน ในช่วงนี้ก็จะมีหล่นร่วงเป็นระยะ ไม่ต้องตกใจ เพราะเนื่องจาก กระท้อนเมื่อติดผลดก ก็จะมีการสลัดผลทิ้งเอง และบางลูกก็เกิดจากการทำลายของศัตรูพืชก็มี

ช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน
ทางใบ
ฮอร์โมนหวาน 2 ช้อนแกง
ฮอร์โมนขยายขนาดทางข้าง 2 ช้อนแกง
แคลเซี่ยม-โบรอน 1 ช้อนแกง
น้ำสะอาด 20 ลิตร
ฉีดพ่นช่วงเช้าแดดจัด ทุก 5 วัน จนเก็บเกี่ยว

ทางดิน
ให้น้ำตามปกติ ไม่ต้องงด กระท้อนต้องการความชื้นจากน้ำ
ข้อพึงระวัง
ช่วงนี้ กระท้อนมีน้ำหนักมาก อาจทำให้กิ่งฉีกขาดได้ จึงต้องมีการพยุงกิ่ง จะใช้ไม้ค้ำ
ข้อปฎิบัติการเก็บเกี่ยว
ที่สวนจะใช้กรรไกรหนีบด้ามยาว หนีบลง ไม่ใช้เด็ด โดยเอาขั้วลงมาด้วย ไม่จำเป็นต้องปีน หาบันไดหรือถังน้ำมัน มารอง เพราะมดแดงมันมาก เอาขี้เถ้าโรยแล้วยังไม่อยู่เลย ใช้แบบนี้ดีกว่า ลูกไหนเก็บไม่ได้ก็ค่อยว่ากันทีหลัง เก็บลงเข็ง รองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์

แต่งต้นหลังเก็บเกี่ยว
เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ย่อมเป็นของธรรมดาที่ยังคงมี โรค-แมลงศัตรู หลงเหลืออยู่ ดังนั้นจึงต้องทำการตัดแต่งกิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออก เช่น กิ่งหัก กิ่งคด กิ่งงอ กิ่งไข้ว กิ่งกระโดง กิ่งประธานที่พุ่งสูง กิ่งที่ให้ผลผลิตแล้ว ทำให้โปร่ง และที่สำคัญ กิ่งที่ไม่ออกดอกติดผลในปีนี้ ไม่ควรตัด เพราะจะเป็นกิ่งที่สมบูรณ์และพร้อมที่ให้ผลผลิตในปีถัดไป
แผลจากรอยตัด ให้ใช้สีน้ำมันทา/ป้ายเพื่อป้องกันไม่ให้ เชื้อโรคเข้าทำลาย

ทางใบ
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 2 ช้อนแกง
น้ำสะอาด 20 ลิตร
ฉีดพ่นช่วงเช้า ทุกๆ 5 วัน
สมุนไพรฉีดพ่น ช่วงเย็น ทุกๆ 3 วัน/ครั้ง

ทางดิน
โกยเอาวัสดุคลุมเดิมออก ไม่ต้องพรวนดิน แล้วใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก แล้วเอาวัสดุเดิมใส่กลับเข้าไป คลุมด้วยเศษวัสดุ รดน้ำให้ชุ่ม 3 วัน/ครั้ง จนแตกกิ่งก้านและออกใบใหม่ จึงจัดแต่งอีกครั้งเพื่อผลผลิตครั้งต่อไป

ให้ความเห็น

ใส่ความเห็น